หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้จักแพ้ - แพ้เพื่อชนะ

รู้จักแพ้ - แพ้เพื่อชนะ
 http://www.thairacingpigeon.com/forums/showthread.php?t=98

เลี้ยงนกพิราบแข่ง หวังว่าจะยิ้มรับชัยชนะให้ได้ทุกสัปดาห์นั้นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
คิดดูสิครับ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกันเกือบร้อยกรง คนยิ้มได้เต็มหน้า คงจะมีเพียง คนได้ถ้วยไม่เกินสามคน คนกินต้นอีกหนึ่ง คนกินร้อย กินบ๊วยอีกอย่างละหนึ่ง สรุปว่าไม่เกิน 6 คน บ่อยครั้งที่ 6 คนนี้เป็นคนเดียวกันซะอีก ส่วนคู่แข่งที่เหลืออีก 90 กว่าเปอร์เซนต์ ต้องสัมผัสกับ “ความพ่ายแพ้”
แม้เราจะเตรียมทีมนกแข่งของเราพร้อมมาดีเพียงใดก็ตาม แต่อาจมีปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมเช่น ลม ฝน โรคภัยไวรัสในอากาศ พายุ ความกดอากาศ ฯลฯ นำมาซึ่งความพ่ายแพ้อย่างเลี่ยงเสียไม่ได้
เนื่องเพราะแข่งนกพิราบแล้วมีโอกาสแพ้มีอยู่มากนี้เอง ทุกคนที่สมัครใจจะแข่งกีฬาชนิดนี้ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะพบกับความพ่ายแพ้ เหนือไปกว่านั้นคือ การเรียนรู้จากความพ่ายแพ้

เริ่มต้นจากการยอมรับความพ่ายแพ้ แม้แต่การยอมรับว่า “แพ้” ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญ รู้จักวิธีแพ้ และแพ้ให้เป็น
ผมนึกถึงวิธีที่ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี เจ้าของเครือบุญรอดฯ ใช้รับมือกับการ “แพ้”
ตอนที่เบียร์สิงห์แพ้เบียร์ช้าง เขาเรียกประชุมทีมงาน ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้
“วันนี้เราพ่ายแพ้ แต่ผมไม่ยอมแพ้”
นั่นคือคำประกาศของเขา
การยอมรับความพ่ายแพ้คือ จุดเปลี่ยนของเบียร์สิงห์
เพราะเป็นการทำลายความอหังการของทีมงานให้กลับมาคิดใหม่ใน “จุดยืน” ที่ต่ำกว่าเดิม
เหตุผลของความพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขายเหล้าพ่วงเบียร์ หรืออะไรก็ตามจะไม่เป็นเหตุผลอีกต่อไป
แต่เป็นเพียง “ข้ออ้าง”
คนที่คิดจะแพ้มักจะมี ข้ออ้าง เต็มไปหมด แต่คนที่หวังชัยชนะ เขาจะไม่มี ข้ออ้าง ใดๆ
มีแต่ “ปัญหา” และ “การแก้ปัญหา”
คู่ต่อสู้จะทำอะไร เราก็ต้องสู้
“สู้กับความจริง”
ถึงวันนี้ “เบียร์สิงห์” ภายใต้การนำของ สันติ ภิรมย์ภักดี กำลังกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์ได้อย่างน่ากลัว ด้วยมุมคิดใหม่ และจุดยืนที่ต่างไปจากเดิม
ยอมรับว่าแพ้ แต่ไม่ยอมแพ้

ในช่วงชีวิตหนึ่ง ใครบ้างไม่เคยพ่ายแพ้ บางคนพ่ายแพ้มาชั่วชีวิต สุดท้ายชนะเพียงครั้งเดียว ความพ่ายแพ้ทั้งหลายทั้งปวงกลายเป็นอดีต ผู้คนต่างแซ่ซ้องสรรเสริญถึงแต่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ มีบ้างบางคนกลับประสบชัยชนะมาทั่วสี่ทิศแปดทาง สุดท้ายผิดพลาดพ่ายแพ้เพียงคราเดียว กลับย่อยยับลงไปทั้งชีวิต
ชัยชนะของผู้ที่เคยแพ้มาตลอด ย่อมยิ่งใหญ่และน่ากล่าวขวัญและอัศจรรย์ใจ
ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะเสมอมา ยิ่งอยู่ในความสนใจของผู้คน

จะรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างไร ถึงจะเรียกว่า แพ้ให้เป็น
ริชาร์ด อูลิเยร์ อดีตผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลกล่าวว่า ความเศร้าโศกเสียใจต่อการพ่ายแพ้ของเขาและลูกทีมต้องมีอายุเพียงหนึ่งวัน
หมดอายุเร็วกว่าแล๊คโตไบรซีรัสในยาคูลย์เสียอีก
หลังจากนั้น สมาธิทุกอย่างต้องมุ่งไปที่เกมใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า
ลืมเกมที่ผ่านมาให้หมด คิดอย่างเดียว ต้องเอาชนะในเกมต่อไป
เพราะชีวิตเราทุกคนต้องอยู่กับ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ไม่ใช่ “อดีต”
ส่วน ราฟา เบนิเตช ผู้จัดการทีมคนปัจจุบันของ หงส์แดง ลิเวอร์พูล เคยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า หลักการทำทีมของเขาง่ายและทำได้ไม่ยาก
ทุกครั้งที่แพ้ พรุ่งนี้เขาจะซ้อมหนักกว่าเดิม
เรียบง่าย แต่ชีวิตจริงมาก
เมื่อแพ้ก็ซ้อมให้หนักขึ้น แค่นั้นเอง เพราะยิ่งเราฝึกปรือฝีมือมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่ครั้งหน้าเราจะแพ้ก็น้อยลงเท่านั้น
ที่สำคัญ ต้องมีความอดทนและพร้อมที่จะรอคอย

ชัยชนะย่อมหอมหวน น่าสัมผัสกว่าเป็นธรรมดา แต่พ่ายแพ้ก็ใช่จะเลวร้ายเสียทีเดียว
อย่างน้อยมันยังบอกกลับเราว่า “ทำอย่างที่ผ่านมา แพ้แน่นอน”
หลายคนสามารถเรียนรู้หนทางแห่งความสำเร็จจากการแพ้พ่าย
ผมคิดถึงคำกล่าวของ ก๊วยไต้โล่ว จากเรื่อง ดาวตก กระบี่ ผีเสื้อ

หลังจาก ก๊วยไต๊โล่ว ต่อยหมัดโค่น กระบองหนีบ หัวหน้ามือปราบลง ราชสีห์ทองถามมันว่า
“น้องเราพลังฝีมือสูงเยี่ยมปานนี้ มิทราบได้รับถ่ายทอดวิชาฝีมือจากยอดคนท่านใด”
ก๊วยไต้โล่ว ตอบว่า “อาจารย์คนแรกคือ หมัดสะท้านบรรพต เล้าโฮ้ว ถัดมาเป็น ดาบไร้เทียมทาน เอี๊ยปิง ทวนเดียวแทงเก้ามังกร เตียก้วง ดาวเทพยดาแขนเหล็ก โอ้วติกเอี้ยง ฯลฯ……”
ควรทราบว่า มีเรื่องประหลาดอยู่ประการหนึ่ง ฉายานามยิ่งข่มขวัญผู้คน พลังฝีมือยิ่งพื้นเพธรรมดา คล้ายคนเล่นปาหี่ในยุทธจักร ปรมาจารย์วิชาบู๊ไหนเลยจะใช้ชื่อฉายานามเหล่านี้
อี้ฉิก พลันกล่าวว่า “อาศัยพวกมันเกรงว่ามิอาจอบรมศิษย์เยี่ยงท่านได้”
“ข้าพเจ้ามิได้ร่ำเรียนปมเด่นของวิชาฝีมือพวกมัน หากแต่ศึกษาจุดอ่อนในฝีมือของพวกมัน”
จุดอ่อน?
“มิผิด ข้าพเจ้าพอเห็นวิชาฝีมือพวกมันมีจุดอ่อนข้อบกพร่องใด ตนเองพยายามหาทางหลีกเลี่ยง นับว่าพวกมันเป็นกระจกเงาสะท้อนเห็นจุดอ่อนวิชาฝีมือ”

คมไหมครับ ต้องมังกรโบราณ(โกวเล้ง)เท่านั้นถึงจะคิดเช่นนี้ได้
แม้ไม่อาจแสวงหาอาจารย์ล้ำเลิศมาสอนสั่งวิธีเลี้ยง วิธีซ้อม เทคนิคการแข่งให้แก่เราได้
แต่ยังสามารถศึกษาข้อผิดพลาดที่เป็นสาเหตุแห่งการพ่ายแพ้ ของนักเลี้ยงท่านอื่นๆ
นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง กำจัดจุดอ่อนสร้างเสริมจุดแข็ง พลิกกลับมาเป็นผู้ชนะในภายหน้า

ทุกวันนี้สังคมสอนให้ทำตามอย่างคนที่ประสบความสำเร็จ หนังสือประเภท HOW TO ออกมาวางขายกลาดเกลื่อนและขายดี ไม่มีใครคิดว่าจะเขียนถึงผู้แพ้บ้างหรือ
เพราะอะไรถึงแพ้ มันไม่มีคุณค่าเลยหรืออย่างไร
อย่างน้อย ก๊วยไต้โล่ว คนหนึ่ง ย่อมไม่เห็นด้วยกับมัน

คุณสุรเดช สุมนนัฏ หรือคุณนกบินเดียว คุณสุรเดชเป็นชายไทยที่เลี้ยงนกพิราบราบแข่งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเขียนเล่าให้ผ่านเวปนี้ว่า
เนื่องเพราะแกได้รับการสนับสนุนจากคุณสุวิทย์ซึ่งเป็นนักเลี้ยงนกพิราบแข่งที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทำให้ผลงานการแข่งในปีแรกที่แข่งลูกนก
ชนะที่๑ ระยะ ๒๕๐ไมล์ (ราวๆ๔๐๐กม)
ชนะที่๑ ๒๘๐ไมล์ (๔๔๘กม)
ชนะที่๑ ๓๓๐ไมล์(๕๔๘กม)
ชนะที่๑ ๓๖๐ไมล์(๕๗๖กม)
เรียกว่าเฮียสุวิทย์สอนมาดี ถ้าใครมาเลี้ยงได้แบบนี้ปีแรกแล้วเลิกเลี้ยง ไม่เป็นบ้า ก็ต้องกลายเป็นคนหลงนกพิราบจนเลิกไม่ได้อย่างแน่นอน
ถึงเวลานี้คุณสุรเดช หันมาแข่งนกแบบสนุกๆตั้งใจไว้ว่าชนะที่๑ปีละครั้งก็พอ
ซึ่งก็ไม่เคยผิดหวัง ฝรั่งว่าไว้ครับว่า It 's lonely at the top แล้วก็จริงเสียด้วย
สามปีแรกที่แข่งนกหาเพื่อนที่แข่งนกด้วยกันยากเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ชนะปีละครั้งเพื่อนมากมาย
แข่งนกเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินครับ

ครับ ชัยชนะที่ได้มาจะมีคุณค่าเช่นไร ถ้าไร้ซึ่งเพื่อนช่วยยินดี
ชนะ ดีใจ แล้วกลับบ้านนอนกอดถ้วยอย่างเดียวดาย สุขจริงๆหรือ
รู้จักแพ้เสียบ้าง เคารพคนรอบข้างเพิ่มขึ้นสักนิด มีแต่มิตรล้อมรอบกาย
“แพ้เสียบ้างจะเป็นไร”

ก๊วยไต้โล่ว ต่อยออกไปหนึ่งหมัด โค่นคู่ต่อสู้ลงอีกหนึ่งคน
“ผายลมมารดามันเถอะ”
“สู้ชนะแล้วเป็นเช่นไร สู้แพ้แล้วเป็นเยี่ยงไร”
มันตวัดเท้าเตะกลับหลัง โค่นลงอีกคนหนึ่ง ไหล่ที่โน้มไปเบื้องหน้ากระแทกใส่ทรวงอกล้มไปอีกคน
“ฝีมือสูงส่งนับเป็นอย่างไรได้”“หากแม้ไม่มีพวกมันคอยสู้แพ้เรา เรายังคิดตีต่อยกับผู้ใด”
หากมิได้ต่อยตี มีชีวิตเช่นนั้น ออกจะจืดชืดไร้รสชาดเกินไป
มิสู้ สู้แพ้ตกตายเสียดีกว่า
“ชีวิตที่ไร้มิตร นับว่าไร้รสชาดเยี่ยงนั้นจริงๆ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น