หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

"ความจริงคือ...การปลดหนี้ IMF ไม่ใช่ผลงานคุณทักษิณ"


"คมช. ...ออกไป!!!"     "เจ๊ง!...เครียด...คิดถึงทักษิณ"     หรือบางคนเติมลงไปว่า "เศรษฐกิจเจ๊ง!...เครียด...คิดถึงทักษิณ"
   นี่คือประโยคยอดนิยมที่พูดกันติดปากในการชุมนุมของกลุ่ม นปก.ที่ท้องสนามหลวงเมื่อ ส.ค. 2550 เนื่องด้วยภาพของภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้นยังตราตรึงใจใครหลายคน โดยเข้าใจว่าผู้ที่กู้วิกฤตเศรษฐกิจนั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
   แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด! เพราะเรื่องของเศรษฐกิจนั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในเรื่องของปัจจัยทางการเมือง พรรคการเมือง หรือตัวบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น!
   เศรษฐกิจ หรือเรื่องของปากท้อง มีความสัมพันธ์กับความนิยมที่มีต่อผู้นำประเทศในแต่ละช่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มีหลักคิดพื้นๆเพียงว่า "หากเศรษฐกิจช่วงไหนดีจะยกประโยชน์ให้รัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้น" และ "ถ้าเศรษฐกิจช่วงไหนไม่ดีจะโยนบาปให้รัฐบาลที่บริหารประเทศขณะนั้นเช่นกัน"
   เนื่องด้วยหลายคนไม่ได้ศึกษาเรื่องความเป็นไปทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง รังแต่จะเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง...
   การปลดหนี้ IMF ไม่ใช่ผลงานคุณทักษิณ ไม่ใช่คุณทักษิณมาบริหารประเทศเพียง 2 ปีแล้วใช้ความสามารถของตนเองล้วนๆ ทำให้ไทยปลดหนี้ IMF ได้ และก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาลชวน 2 เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญอีกประการคือ "วงจรธุรกิจ" หรือ "วัฏจักรเศรษฐกิจ" ที่มีขึ้น-ลงตามรอบปกติอยู่แล้ว รวมไปถึงธรรมชาติของค่าเงินที่เปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะแปลงวิกฤตเป็นโอกาสสำหรับภาคการส่งออกทันที
มาดูกันดีกว่าครับว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
ปัจจัยที่ 1 ค่าเงินบาทที่มีผลต่อการส่งออกหลังปี 2540
   การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 (กรณีของไทยเมื่อลอยแล้วเงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาท/US$ มาเป็นประมาณ 40 บาท/US$) ส่งผลให้การส่งออกเติบโตขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยจะดูราคา ถูกลงในมุมมองของต่างชาติทันที และคิดเป็นเงินบาทได้มากกว่าเดิม อธิบายอีกมุมก็คือ "คนอเมริกันถือเงินดอลลาร์เท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าไทยได้จำนวนมากขึ้น" ซึ่งจุดนี้ใครๆ ก็คิดว่าคุณทักษิณทำให้ส่งออกได้มาก ถ้าขาดคุณทักษิณแล้วประเทศไทยคงจะแย่ นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะเรื่องของ "ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง" คือ 1 ใน 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การส่งออกดีขึ้น
1. ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
2. ราคาสินค้า
3. เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว
   นอกจากนี้การลอยตัวค่าเงินบาทมีส่วนให้ดุลการค้าของไทยเราเกินดุลอีก การดูดุลการค้าเป็นสิ่งสำคัญกว่าการดูการส่งออกอย่างเดียว เพราะนอกจากเราจะดูว่าเราขายของออกนอกไปเท่าไหร่ ต้องหักของที่เราซื้อเข้าประเทศด้วยไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ทองคำ เหล็ก เป็นต้น
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
แผนภูมิแท่งที่มีตัวเลขกำกับสีดำ (ที่สูงกว่าเลข 0) คือ เกินดุลการค้า (ส่งออกมากกว่านำเข้า...ได้เปรียบเขา)
แผนภูมิแท่งที่มีตัวเลขกำกับสีแดง (ที่ต่ำกว่าเลข 0) คือ ขาดดุลการค้า (นำเข้ามากกว่าส่งออก...เสียเปรียบเขา)
ดุลการค้าคืออะไร?
ดุลการค้า = ส่งออก – นำเข้า

   ก่อนวิกฤติปี 40 ไทยขาดดุลการค้ามาตลอด การส่งออกยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าในบางปีจะ ส่งออกได้มาก แต่ก็ยังสู้การนำเข้าไม่ได้
   นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน เหล็ก ทองคำ จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านั้น รวมถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ "อย่างเกินตัว" และเมื่อไทยจำเป็นต้องลอยตัวค่าเงินบาทย่อมส่งผลเสียต่อผู้ที่กู้เงินในรูปของเงินตราต่างประเทศ แต่ในด้านของผลดีคือ สินค้าไทยดูราคาถูกลงในสายตาของต่างชาติในทันที! การส่งออกได้รับผลดีในช่วงแรกคือส่งออกได้รับเงินมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ปัจจัยใดๆ มาส่งเสริม ส่วนการนำเข้าไม่ต้องพูดถึง เพราะลดลงทันทีถึง 33.8% ในปีแรกที่ลอยตัวค่าเงินบาท คนไทยไปเที่ยวเมืองนอกลดลงทันที (ช่วงแรกๆ) ในทางกลับกันคนต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น นี่คือกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่คุณทักษิณยังไม่มาบริหารประเทศ
   จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยจะชี้ให้เห็นว่าในปี 2541 ไทยเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2522 (ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลถึงแค่ปี 2522) และในปี 41 นั้นเองที่กลับเป็นรัฐบาลชวนเสียอีก ที่ดุลการค้าเกินดุลมากเป็นประวัติการณ์ คือ เกินดุลถึง 12,200 ล้าน US$ ถามว่าเกี่ยวกับคุณชวนไหม? 
   คำตอบคือ "ไม่เกี่ยว" และ "ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณเช่นกัน" มันเป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว หมายถึง ไม่ว่ารัฐบาลชุดใด มาบริหารหลังลอยตัวค่าเงินบาท มูลค่าการส่งออกจะมีมากขึ้นทันที
เพียงแต่ในอนาคตข้างหน้า หากจะแข่งขันให้ได้ในระยะยาว ก็ต้องเน้นการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ
   เมื่อการส่งออกของไทยสามารถเติบโตขึ้นได้หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากเงินที่เคยสูญไปกับการปกป้องค่าเงินบาทเมื่อปี 39-40 ก็กลับเป็นการสะสมเงินทุนสำรองฯ โดยการส่งออก และการท่องเที่ยว 
ไม่ได้เป็นเพราะการบริหารงานของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นไปตามธรรมชาติของค่าเงิน
ซึ่งกระบวนการนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี!
   ถึงจุดนี้หลายคนอาจแย้งว่าคุณทักษิณสามารถหาตลาดส่งออกได้ แต่หากสมมติให้คุณทักษิณมาบริหารประเทศในช่วงก่อนวิกฤติ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท/US$ ผมรับรองได้ว่าต่อให้หาตลาดส่งออกสักเท่าใดมูลค่าการส่งออกของไทยก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ และจะยังขาดดุลการค้าเหมือนเดิม
   จากแผนภูมิแท่งจะเห็นว่า กลับเป็นปี 48 (สมัยคุณทักษิณ) ด้วยซ้ำไปที่ไทยขาดดุลถึงกว่า 8,000 ล้านUS$
ถามว่า...เป็นความบกพร่องของคุณทักษิณอย่างนั้นใช่หรือไม่?
หรือเป็นเพราะการเคลื่อนไหวของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่จัดการชุมนุมในรูปแบบของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเมื่อปลายปี 48 ที่ทำให้ใครๆ ต่างก็บอกว่าชุมนุมจนเศรษฐกิจไทยพัง!!! อย่างนั้นใช่หรือไม่?
   คำตอบคือไม่ใช่ทั้งคู่ เพราะถ้าเราดูในรายละเอียดจะเห็นว่าเป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ขยับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จึงเป็นผลให้ไทยขาดดุลการค้าในปีนั้น
ปัจจัยที่ 2 อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
   ดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดตัวหนึ่งที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงซบเซา หรือลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจก็ได้ แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลา
   การกำหนดทิศทางของอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งประชุมกันทุก 6-8 สัปดาห์ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลาหนึ่งๆ
   ดังนั้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 "ดอกเบี้ยต่ำ" จึงเป็นตัวหลักที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปต่อได้...ที่สำคัญ "ดอกเบี้ยต่ำ" ไม่ได้เกิดจากการสั่งการของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" แต่อย่างใด หากแต่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของช่วงเวลานั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า "เป็นไปตามกลไกตลาด"
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/)
   ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามภาวะตลาด โดยการกำหนดทิศทางโดย กนง. และนโยบายดอกเบี้ยต่ำได้เริ่มตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อ "ดอกเบี้ยต่ำ" ก็ส่งเสริมให้คนในประเทศเริ่มจับจ่ายใช้สอย
เมื่อคนเริ่มจับจ่ายใช้สอย...ก็ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หมุนเวียนไปตามร้านค้า บริษัทต่างๆ
เมื่อเงินหมุนเวียนไปตามร้านค้า บริษัทต่างๆ...ร้านค้า บริษัทต่างๆ ก็มีรายได้ และเกิดการลงทุนเพิ่ม, การจ้างงาน
เมื่อบริษัทมีรายได้ และคนมีงานทำ...ก็มีเงินใช้จ่าย และส่งภาษี
เมื่อมีเงินส่งภาษี...รัฐฯก็มีเงินงบประมาณที่นำมาใช้จ่าย (หรือใช้หนี้) ต่อไปได้
และผลก็คือเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในที่สุด
"กระบวนการนี้อาจไม่ได้เริ่มทันทีที่ใช้นโยบายนี้ แต่จะค่อยๆส่งผล...เป็นไปตามวัฎจักรของเศรษฐกิจ"
   แม้วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จะทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการลง โดยผลกระทบเกิดกับบริษัทที่กู้เงินในรูปของเงินตราต่างประเทศ...ที่เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวแล้วมีผลทำให้หนี้เงินกู้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเพียงชั่วข้ามคืน...
   แต่เศรษฐกิจในส่วนอื่นแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ยังมีกำลังพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ เช่นในรูปแบบของ SME หรือในภาคของสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างมาก (ส่งออกได้มากขึ้นเป็นไปตามค่าเงินบาทที่เปลี่ยนไป เพราะธรรมชาติของค่าเงินที่อ่อนตัวลงจะสร้างความได้เปรียบให้แก่ไทย...ไม่เกี่ยวกับความสามารถของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เกิดจากการสร้างภาระหนี้สินอย่างกว้างขวางแก่ประชาชนระดับรากหญ้าในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี!
   บางคนอาจสงสัยว่า "จากกราฟ...ทำไมในช่วงต้นของรัฐบาลชวน หลีกภัย (หลังจากพลเอกชวลิต ลาออก พ.ย. 40) ดอกเบี้ยกลับเพิ่มสูงขึ้นมาก?...ตรงข้ามกับที่เราเข้าใจว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤตต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
   สาเหตุที่ไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงในช่วงแรกของวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะตอนนั้นค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างไม่หยุดยั้ง จาก 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าจน 60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป ดังนั้นเพื่อให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพก่อน และหยุดการไหลออกของเงิน จึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง เมื่อค่าเงินบาทมีเสถียรภาพแล้วจึงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นี่คือสิ่งที่ "รายการนายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน" ทุกเช้าวันเสาร์(แต่ก่อน) ไม่เคยบอกให้กับประชาชนได้รับรู้!!!
   คุณทักษิณน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจได้เอื่อต่อการบริหารประเทศบ้างแล้ว หลังจากคุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 44 แต่ด้วย"การตลาดนำการเมือง" จึงสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และในทางกลับกันก็สามารถสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ แก่คนไทยจำนวนมาก
   ชาวบ้านที่ไม่รู้ไม่มีความผิด ไม่ใช่ความผิดของคนที่ไม่รู้ และผมไม่มีสิทธิ์ใช้คำดูถูกดูแคลนชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่รู้เรื่องราวเช่นนี้...ผมอธิบายได้เพียงเท่าที่ผมจะอธิบายได้ อยู่ที่ว่าพวกเขาจะเข้าใจหรือไม่...
ปัจจัยที่ 3 "ภาระหนี้ต่างประเทศ" ที่ลดลงตั้งแต่ก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
   เป็นที่ทราบดีว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวแล้วไปในทางอ่อนค่าลงจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นทันที ตัวอย่างเช่น ราคาพวงกุญแจนำเข้าจากสหรัฐฯ มีราคาชิ้นละ 1 US$ ซึ่งก่อนลอยตัวฯ เมื่อตีค่าเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 25 บาท(โดยประมาณ) แต่เมื่อลอยตัว(แล้วเงินบาทอ่อนค่าลง) ราคาพวงกุญแจ ณ สหรัฐฯ แม้จะมีราคา 1 US$ เหมือนเดิม แต่ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ที่ประมาณ 40 บาท/US$ จึงทำให้ราคาพวงกุญแจนำเข้าชิ้นนั้นเพิ่มราคาเป็น 40 บาท (ถ้าคิดตามปัจจุบันพวงกุญแจพวงนี้จะคิดเป็นเงินไทยประมาณ 33.50 บาท)
   ภาระหนี้ต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน เพียงชั่วข้ามคืน วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ผู้ใดก็ตามที่กู้เงินในรูปของเงินตราต่างประเทศ เมื่อตีค่าเป็นเงินบาท ก็จะมียอดหนี้สูงขึ้น เงินบาทอ่อนตัวเท่าใด ยอดหนี้ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น
   ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่าก่อนที่คุณทักษิณจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปี 2544 ภาระหนี้ต่างประเทศนั้นก็ได้ลดลงไปมากแล้ว จากที่เคยอยู่ในระดับ 105.1 พันล้านUS$ เมื่อปี 2541
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   จากแผนภูมิแยกให้เห็นชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2544-2549 คือช่วงที่คุณทักษิณบริหารประเทศ
   ในกรณีนี้หมายถึงการกู้เงินจากต่างประเทศมียอดที่ลดลง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งปัจจัยนี้ก็ช่วยให้การบริหารประเทศในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นง่ายกว่า "รัฐบาลชวน หลีกภัย" อย่างมาก
   กลับเป็นช่วงก่อนเหตุการณ์ชุมนุมโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ด้วยซ้ำไปที่ภาระหนี้ต่างประเทศกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น
   คำว่า "เจ๊ง...เครียด...คิดถึงทักษิณ" อยากให้คุณทักษิณกลับมาเป็นผู้แก้วิกฤตเศรษฐกิจนั้นเป็นคำพูดของผู้ที่ไม่รู้ หรือรู้แล้วแกล้งไม่รู้เท่านั้น
ปัจจัยที่ 4 ยอดคงค้าง NPL ทั้งระบบ
   NPL หรือ สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสีย (ภาษาปาก) ก็ได้บริหารจัดการตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณจะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้เสียนี้จะให้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) หรือหน่วยงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของแต่ละธนาคารเป็นผู้ดำเนินการ
   โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สมัครใจแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยกัน อาจทำได้ทั้งการยืดระยะเวลาชำระหนี้ การยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด(เนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจมีลูกหนี้หลายรายขาดการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ลูกหนี้รายนั้นจึงตกไปอยู่ในเกณฑ์ของ NPL แต่แม้จะหยุดผ่อนชำระ ดอกเบี้ยก็จะยังเดินไม่หยุด อีกทั้งมีดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดอีก กลายเป็นเพิ่มภาระให้กับลูกหนี้รายนั้น การยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่ลูกหนี้ จึงเป็นการช่วยให้ลูกหนี้ยังพออยู่ในสภาพที่จะสามารถชำระหนี้แก่ธนาคารได้ต่อไป) นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เช่น การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือเพียงร้อยละ 0.01 "ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่พรรคไทยรักไทยยังอยู่ในช่วงก่อตั้งพรรค"
   แล้วอย่างนี้จะเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเพื่อทำอะไรกับ "เศรษฐกิจไทย"? ในเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ผู้แก้ไขปัญหาหลักด้วยซ้ำไป
   เรื่องของ "เศรษฐกิจ" มีองค์ประกอบของ "วัฎจักรที่มีทั้งขึ้น-ลง" เป็นตัวหลัก ส่วน "นักการเมือง" ไม่ใช่ผู้ควบคุมทุกปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่ 5 การหยุดกู้เงิน IMF ก่อนกำหนดถึง 1 ปี
   ข้อเท็จจริงอีกประการคือ เงินกู้ IMF เป็นเงินกู้แบบ Stand-by ที่มีระยะเวลาเบิกถอน 2 ปี 10 เดือน คือตั้งแต่ สิงหาคม 2540 จนถึงเดือนมิถุนายน 2543
   แต่เนื่องจากฐานะดุลการชำระเงินดีขึ้นมาก รัฐบาลในขณะนั้นที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์จึงตัดสินใจหยุดเบิกถอนเงินกู้ตั้งแต่ มิถุนายน 2542 หมายถึง หยุดเบิกถอนก่อนกำหนดถึง 1 ปี
(ข้อมูลจาก ธปท. อยู่ในข้อการให้ความช่วยเหลือของ IMF)
   เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ "ไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น" นั่นเอง
   คำถามมีอยู่ว่าในเมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ทำไมประชาชนจึงยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย?
   ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า...
1. ระยะเวลาของการเกิดผล คือ หลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงของทิศทางค่าเงินบาท, ทิศทางดอกเบี้ย หรือการใช้มาตรการใดๆ แล้ว ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ขึ้น
2. เรื่องของ "ความรู้สึก" ซึ่งเรื่องนี้กลับเป็นเรื่องหลัก ผมถือได้ว่าเป็นข้อสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะความรู้สึกของประชาชนนั้นมีผลต่อความมั่นใจในเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งความมั่นใจด้านการบริโภค ลงทุน ใช้จ่าย ทั้งๆ ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจก่อนคุณทักษิณมาเป็นนายกฯ นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นมากแล้ว ดังจะเห็นได้จากหนังสือแสดงเจตจำนง ฉบับที่ 7 ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2542 แต่ความรู้สึกของประชาชนในขณะนั้นไม่มีความมั่นใจในตัวผู้นำประเทศคือคุณชวน หลีกภัย แต่มีทางเลือกใหม่ที่มีภาพลักษณ์ดีกว่า
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   การที่ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้สึก ถ้าความรู้สึกไปในทิศทางไม่ดี แต่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้นดีพอ ก็ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจเดินไปในทิศทางที่ดีได้

   ดังเช่นในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยหลายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อผู้นำประเทศในขณะนี้ "ไม่ดี" จึงเกิดความไม่มั่นใจ เพราะรัฐบาลในสมัยนั้นมาจากการทำรัฐประหาร ผลกระทบก็เป็นอย่างที่เห็นกัน (แต่สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างกับวิกฤตปี 40 ตรงที่ปี 2540 นั้นประชาชนระดับรากหญ้าไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่ากับปัจจุบันนี้!)...
   อย่างในกรณีที่หลายคนกังวลว่า IMF จะกลับเข้ามาอีกรอบนั้นก็เป็นความเข้าใจที่ผิดๆ สำหรับผู้ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง
   เป็นไปไม่ได้ว่า IMF จะเข้ามาอีกรอบในปัจจุบันนี้อย่างที่คุณทักษิณเคยกล่าวไว้ในทำนองว่าถ้าไม่ใช่คุณทักษิณเป็นผู้บริหารประเทศ ประเทศไทยจะเดินไปสู่ IMF อีกรอบ...ถ้าคุณเชื่อคำที่คุณทักษิณเคยบอกไว้ แสดงว่าคุณอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่...ก็เพียงแค่คุณทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง
ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มักมีคำกล่าวในทำนองที่ว่า
"ถ้าไม่อยากให้ IMF กลับมาเลือกไทยรักไทย...แต่ถ้าเลือกประชาธิปัตย์ IMF กลับมาแน่!!!"
   คำกล่าวในทำนองนี้ออกมาจากอดีตพรรคการเมืองที่ชื่อ "ไทยรักไทย" ในครั้งหาเสียงเลือกตั้งปี 2548...ด้วยความคิดที่ว่า "ไทยรักไทย" เท่านั้นที่สามารถนำประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ หรือ "ไทยรักไทย" เท่านั้นที่พาให้เศรษฐกิจไทยเจริญก้าวหน้าได้
   การที่ไทยต้องกู้เงิน IMF ในครั้งนั้นเป็นเพราะเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 40 โดยหมดไปกับการต่อสู้การเก็งกำไรค่าเงินบาทสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2540 ที่มีการต่อสู้การเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างมโหฬาร
   แต่หากได้อ่านตั้งแต่ต้นก็จะเข้าใจดีว่า แท้จริงแล้วการที่ไทยพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ได้นั้นเป็นไปตาม วัฏจักรเศรษฐกิจที่มีขึ้นและลง เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ช่วยส่งเสริมด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ทำให้ไทยสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศจนทะลุ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว
   ไม่ต้องพึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เงินสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยคุณชวน จนคุณทักษิณ จนคุณสุรยุทธ์ หรือจะเปลี่ยนนายกฯ อีกกี่คนก็ตามแต่...เงินสำรองระหว่างประเทศก็มิได้ลดลง
   เพราะประเทศไทยไม่ได้นำเงินสำรองระหว่างประเทศไปต่อสู้การเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างเช่นสมัยพลเอกชวลิต
   เพราะไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จึงขึ้นลงตามปริมาณเงินตราต่างประเทศ ไม่สามารถเก็งกำไรได้ง่ายดายดังเช่นแต่ก่อน
   เพราะประเทศไทยมีมาตรฐานทางการเงินดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ตั้งแต่การแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
   โปรดอย่าให้คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลอกพวกท่านอีกเลยครับ
   คงมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า IMF เข้ามาในยุคของรัฐบาล "ประชาธิปัตย์" แท้จริงแล้ว IMF เข้ามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต (พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เป็นรองนายกฯ ในสมัยนั้น...ที่มีข้อครรหาเรื่องการรู้ข้อมูลภายในการลอยตัวค่าเงินบาท ที่ทำให้บริษัทของครอบครัวชินวัตรไม่ถูกผลกระทบจากการลอยตัวค่าเงินบาท นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยเรื่องการซื้อเงินดอลลาร์จำนวนมากไว้เพื่อทำกำไรบนความขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังลอยตัวค่าเงินบาทอีกด้วย) 
   รัฐบาลพลเอกชวลิตนั้นเองที่ ครม.อนุมัติให้ ดร.ทนง พิทยะ (รมว.คลัง) ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 1 (Letter of Intent : LOI) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 และหลังจากรัฐบาลชวลิตลงนามใน LOI ฉบับที่ 1 แล้ว พลเอกชวลิตก็ได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   จะเห็นข้อความระบุไว้ว่า "ประเทศไทยมีพันธะจะต้องปฏิบัติตาม..." มันเป็นที่มาของอะไร?
   ส่วนหนึ่งมันเป็นที่มาของมาตรการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ IMF กำหนดให้รัฐบาลที่มาบริหารงานหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็คือ รัฐบาลชวน 2ที่ต้องจำกัดจำเขี่ยที่จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในสมัยของรัฐบาลชวน 2 ตามที่ LOI ระบุไว้ และสุดท้ายข้าราชการในปัจจุบันก็ไม่เคยเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาถึงแทบไม่ได้ขึ้นเงินเดือนในยุคชวน 2 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยไม่ดูถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   และที่สำคัญ LOI ที่ทำในสมัยชวลิตนี้ มีคุณทักษิณเป็นรองนายกฯ และมี ดร.ทนง เป็น รมว.คลัง เป็นที่มาของมาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะด้านพลังงาน ที่คุณทักษิณใช้โจมตีปชป.ตอนหาเสียงปี 2544 ว่าเป็น "กฎหมายขายชาติ" โดยไม่ดูจุดเริ่มต้นว่าเริ่มที่จุดไหน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
   ต่อข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมาย 11 ฉบับนั้น แท้จริงแล้วเป็น "พันธะ" ที่ได้ระบุไว้ในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 1 เหตุผลหนึ่งก็เพื่อลดภาระของภาครัฐในยามที่ภาครัฐต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ...แต่ด้วยเกมการเมืองจึงทำให้พรรคการเมืองที่ต้องการเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศนั้น ใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง...กลับเป็นคุณทักษิณที่แปรรูป ปตท. และผลักดันการแปรรูป กฟผ.? เสียเอง
   สมมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่รับช่วงบริหารงานต่อจาก พลเอกชวลิต ก็ไม่พ้นที่จะต้องออก "กฎหมายขายชาติ" เช่นเดียวกัน
   ผมขอจบบทความ "ความจริงคือ...การปลดหนี้ IMF ไม่ใช่ผลงานคุณทักษิณ" ด้วยข้อความที่ผมเคยเขียนเมื่อ พฤษภาคม 2549 ไว้ดังนี้
   "หากประเทศไทยไม่เคยมีนายกชื่อทักษิณ ประเทศไทยพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ได้อยู่แล้ว เพราะวิกฤตได้แก้ไขมาก่อนหน้า ตรงกันข้าม...วิกฤตปัจจุบันเกิดจากการใช้นโยบายประชานิยมสร้างนิสัยเสียแก่ประชาชน เพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง และทำให้ยิ่งต้องใช้เงินคลังมากขึ้น...มากขึ้น
   ผู้นำประเทศที่คนไทยต้องการคือผู้ที่ยืดแนวทางการพัฒนา "คน" เป็นหลัก ผู้นำที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัดสินใจด้วยความรอบคอบ และมีความสุจริตเป็นที่ตั้ง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน...ไม่มีทักษิณประเทศไทยสามารถอยู่ได้และดีกว่านี้แน่นอน...เสียดายที่คนไทยหลายคนมองเพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของตัวเอง และชื่นชมคนเล่นละครเป็นพระเอกในดวงใจ(จาก 1 ใน 19 ล้านเสียงที่คุณทักษิณชอบนำไปกล่าวอ้างเสมอ)
ที่ว่าทักษิณเก่งนั้น คือ "เก่งประชาสัมพันธ์" จริงๆ ครับ
ไม่สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่...เพื่อสร้างความกระจ่างแก่คนรักทักษิณที่ยังขาดข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น